เมื่อรู้แล้วว่ามีจุดเสี่ยง ก็ต้องแยกแยะได้ว่าเสี่ยงเพราะอะไร

วันที่เผยแพร่ 29 Mar 2021

ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะมีผลต่อเกณฑ์การตัดสินคะแนน ทีมงานแต่ละคนต้องช่วยกันวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ชัดเจนว่า  สาเหตุของความเสี่ยงจนเกิดเป็นอุบัติเหตุตรงจุดนั้นมาจากปัจจัยทางด้านกายภาพหรือเป็นเพราะพฤติกรรมทางสังคม หรือเกิดขึ้นจากทั้ง 2 ปัจจัย วิเคราะห์ได้ในเบื้องต้นจากข้อมูลประกอบ ดังนี้ 

ความเสี่ยงทางกายภาพ ขยายความหมายให้เข้าใจได้ง่าย ก็คือ สาเหตุที่เกิดจากสภาพถนน ลักษณะที่ตั้งของถนน ทั้งทางแยก ทางโค้ง หรือแม้กระทั่งทางตรง ที่มีผลต่อการขับขี่ โดยลักษณะถนนที่เข้าข่ายความเสี่ยง คือ

  • ทางแยกที่ถูกสภาพถนนหลอกตา ขับรถมาในทางตรงแล้วยังมองไม่ออกว่าข้างหน้าเป็นทางแยก หรือแยกที่เป็นทางโค้ง แยกที่อยู่ถัดจากสะพาน และเป็นถนนที่ไม่มีป้ายแจ้งเตือนว่าข้างหน้าเป็นสามแยก สี่แยก หรือเป็นวงเวียน 
  • ทางแยกที่มีแนวกำแพง พุ่มไม้ หรือสิ่งก่อสร้างสิ่งกีดขวาง ที่ทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถมองเห็นรถจากทิศทางอื่นๆได้
  • ทางแยกวัดใจ ที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจร หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจร เป็นความเสี่ยงหากผู้ขับขี่ไม่เข้าใจเรื่องการใช้เส้นทางหลัก กับเส้นทางรอง(ทางเอก ทางโท)
  • ทางแยกมีสภาพผิวทางที่ลื่น เป็นหลุมเป็นบ่อ ฝาท่อระบายน้ำมีลักษณะที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเวลากลางคืนซึ่งไม่สามารถมองเห็นความต่างระดับหรือความผิดปกติของถนนได้อย่างชัดเจน 
  • ทางแยกที่มีสภาพข้างทางซึ่งอาจซ้ำเติมการชนหรืออุบัติเหตุให้มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ไม่มีราวกันชน ไม่มีแนวกั้นตกคลอง ไม่มีอุปกรณ์กันกระแทก หรือมีวัตถุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ต้นไม้ 
  • ทางแยกถนนชุมชนที่ตัดกับถนนใหญ่(ถนนสายหลัก) ถนนมีลักษณะเป็นเนินหรือต่างระดับ มีต้นไม้หรือสิ่งบดบัง ไม่มีสัญญาณไฟ หรือป้ายแจ้งเตือน ทำให้รถจากทั้งสายรองและสายหลักไม่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน หรือขณะขับขึ้นเนินใช้อัตราเร่งของรถที่อาจเสี่ยงกับการปะทะหรือมีผลกับความเร็วของรถบนถนนสายหลัก     
  • ทางโค้งที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย คือ ทางโค้งที่ผู้ขับขี่มองในระยะไกลหรือใช้เส้นทางผ่านในเวลากลางคืนแล้วมองไม่ออกมาเป็นทางโค้ง  หรือมองไม่เห็นรถที่ขับขี่สวนมา ไม่มีป้ายสัญลักษณ์แสดงลักษณะทางโค้งว่าเป็นโค้งทางซ้ายหรือขวา หรือโค้งไปโค้งมาเป็นตัว S รวมถึงทางโค้งที่มีต้นไม้ข้างทางซึ่งมีผลกับระยะการมองเห็น 
  • ทางโค้งที่มีเศษดินเศษหินทำให้ลื่น ผิวทางลื่น เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือขอบทางโค้งต่างระดับ สูงกว่าหรือต่ำกว่าพื้นดินข้างทาง 
  • ทางโค้งที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หรือทางโค้งที่มีสภาพข้างทางซึ่งอาจซ้ำเติมการชนหรืออุบัติเหตุให้มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ไม่มีรั้วขอบทาง ไม่มีแนวกั้นตก ไม่มีอุปกรณ์กันกระแทก หรือมีวัตถุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ต้นไม้
  • ทางตรงที่ไม่มีเส้นแบ่งเลนถนน แบ่งไหล่ทางหรือมีแต่เริ่มเลือนหายเนื่องจากอายุการใช้งาน
  • ทางตรงที่ไม่มีป้ายสัญลักษณ์กำหนดความเร็ว รวมถึงป้ายและอุปกรณ์เตือนให้ชะลอความเร็ว
  • ทางตรงที่มีความกว้างพื้นถนนไม่เท่ากัน เช่น ถนน 4 เลนที่แคบลงกลายเป็น 2 เลน หรือเป็นถนนคอขวด
  • ทางตรงที่มีรถจอดอยู่ริมทางหรือได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ที่สามารถจอดรถริมทาง
  • ทางตรง ที่ถนนชำรุด เป็นทางก่อสร้าง ซึ่งไม่มีป้ายแจ้งเตือน 
  • ทางตรงที่มีสภาพพื้นผิวถนนลื่น มีหลุม มีบ่อ มีฝาตะแกรงเหล็ก ฝาท่อระบายน้ำคอนกรีตที่ต่างระดับกับผิวทาง 
  • ทางตรงที่มีสภาพข้างทางที่เป็นอันตราย เช่น มีขอบทางต่างระดับกับดินข้างทาง ไม่มีแนวกั้น หรือมีการสร้างรั้วที่พักอยู่ในแนวเดียวกับถนน
  • ถนนในชุมชน ที่ไม่มีป้ายเตือนเขตชุมชน เขตโรงเรียน เขตวัด หรือป้ายควบคุมความเร็ว 

ความเสี่ยงจากพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งหมายถึง ลักษณะนิสัยโดยส่วนตัวของผู้ขับขี่ ผู้ใช้ถนน รวมถึงของกลุ่มคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมารยาท ความเคยชิน ความเชื่อ ความประมาท ขาดสมาธิ รวมไปถึงการเพิกเฉย/ละเลยและฝ่าฝืนกฎระเบียบทางจราจร ให้วิเคราะห์ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุบริเวณจุดเสี่ยงที่นำเสนอมาจากลักษณะเสี่ยงเหล่านี้หรือไม่ 

  • เมาแล้วขับ เป็นพฤติกรรมความเสี่ยงอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน แม้จะมีกฎหมาย “ห้ามผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถทุกชนิด โดยหากพบว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับตั้งแต่ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่ยังพบสถิติจำนวนผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ  และอย่างที่ทราบกันดีว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีผลทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ลดลง ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ดื่มช้าลงอย่างมาก หากขับรถในสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมอาจทำให้เสียชีวิตหรือกลายเป็นฆาตรกรได้ 
  • ง่วงแล้วขับรถ เป็นความเสี่ยงด้านพฤติกรรมที่ถือว่าอันตรายใกล้เคียงกับกรณีเมาแล้วขับ เพราะเพียงแค่เผลอหลับใน 3-5 วินาที ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดได้ ยิ่งขับรถมาด้วยความเร็วเกินกว่า 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการเบรกหรือการทรงตัวได้ทันเมื่อโดนชน
  • คุยโทรศัพท์ขณะขับรถ เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อความสนใจสภาพแวดล้อมบนเส้นทาง ไม่สามารถจดจำรายละเอียดเส้นทาง ป้ายจราจร และป้ายบอกทางได้ โดยเฉพาะหากผู้ขับขี่ใช้มือถือโทรศัพท์ จะเหลือมือจับพวงมาลัยเพียงข้างเดียว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ซึ่งการสนทนาทางโทรศัพท์โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 5 เท่า การพิมพ์หรืออ่านข้อความทางโทรศัพท์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 23 เท่า
  • แต่งหน้าหรือหวีผมหรือหยิบสิ่งของในระหว่างขับรถ เป็นพฤติกรรมที่มักทำในช่วงที่สภาพการจราจรติดขัด หรือรถจอดติดสัญญาณไฟ โดยอาจเผลอปล่อยเท้าจากแป้นเบรก หรือค้นหาหรือหยิบสิ่งของผู้ขับขี่ต้องเอื้อมมือ และเอี้ยวตัว รวมถึงละสายตาจากเส้นทาง มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 0.5 เท่า
  • นำเด็กเล็กโดยสารโดยไม่มี Car seat คาร์ซีท เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4 เท่า
  • นำเด็กโดยสารโดยอุ้มเด็กนั่งตักขณะขับรถ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 8 เท่า
  • ใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ ร้อยละ 76 ของอุบัติเหตุบนถนนเกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  
  • ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เพิกเฉยต่อป้ายเตือน ป้ายห้าม ข้อกำหนดต่างๆ บนท้องถนน ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ทั้งตัวผู้ขับขี่ และผู้ร่วมขับขี่บนท้องถนนคนอื่น
  • ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย  เป็นพฤติกรรมส่วนตัวที่มีผลต่อความเสี่ยงโดยส่วนรวม โดยในเขตชุมชนชนบทสวมหมวกนิรภัยน้อยเพียงร้อยละ 30 และยังคงมีแนวโน้มการใช้หมวกนิรภัยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก โดยเฉพาะผู้โดยสารใช้หมวกนิรภัยไม่ถึง ร้อยละ 10 สาเหตุส่วนใหญ่ของการไม่สวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ใน 3 อันดับแรก คือ เดินทางระยะใกล้ ร้อยละ 65  ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ ร้อยละ 36 และเร่งรีบ ร้อยละ 31  
  • ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นพฤติกรรมความเสี่ยงที่เกิดจากทัศนคติ โดยประเทศไทยยังมีอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าในสัดส่วนค่อนข้างต่ำ มีการคาดเข็มขัดนิรภัยในกลุ่มผู้ขับขี่ประมาณร้อยละ 60 ในขณะที่พบว่าผู้โดยสารคาดเข็มขัดเพียงร้อยละ 40  สาเหตุส่วนใหญ่ของการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใช้รถยนต์ ทั้ง ผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าใน 3 อันดับแรก คือ เดินทางระยะใกล้ ร้อยละ 51 ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ ร้อยละ 29 และเร่งรีบหรือต้องขึ้น-ลงรถบ่อย ร้อยละ 28 และโดยเฉลี่ยผู้ขับขี่ ร้อยละ43 มีทัศนคติว่าไม่จำเป็นต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากเดินทางใกล้ๆ หรือขับรถในซอย
  • ขับรถคร่อมเลนถนน เป็นพฤติกรรมเสี่ยงตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่กำหนดไว้ว่า การขับรถคร่อมเลนหรือทับเส้นทึบแนวแบ่งช่องเดินรถ  โดยไม่ได้เปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายจราจรทางบกจะมีโทษปรับอยู่ที่ 400 - 1,000 บาท
  • เร่งรถเมื่อเห็นสัญญาณไฟเหลือง ถือว่าผิดกฎหมายจราจรเช่นเดียวกับฝ่าสัญญาณไฟเเดง  เพราะมีโอกาสทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันได้ หากใครฝ่าฝืนกฎจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่กรณีที่คุณขับรถเลยเส้นบังคับหยุดรถไปก่อนไฟเหลืองจะกระพริบ 
  • จอดรถในบริเวณที่ห้ามจอด เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมเสี่ยงและส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการจราจร  มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
  • ตากข้าวบนถนน เป็นความเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน แม้จะใช้ความเร็วไม่มาก เช่น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมองเห็นว่ามีข้าวเปลือกตากอยู่ แต่การจะตัดสินใจหยุดรถก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2 วินาที ซึ่งในช่วงนั้นรถสามารถเคลื่อนไปได้อีก 32 เมตร ทำให้หยุดรถไม่ทัน บางกรณีมีผ้ายางปูรอง ยิ่งมีความเสี่ยงทำให้รถลื่นไถลหรือพลิกคว่ำได้ เพราะพื้นขาดแรงเสียดทาน ซึ่งการนำข้าวเปลือกมาตากบนถนนผิดพ.ร.บ.ทางหลวง 2535 มาตรา 39 และมาตรา 72 ผิดพ.ร.บ จราจรทางบก 2522 มาตรา 114 และมีความผิดตามพ.ร.บ รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 มาตรา 19 มาตรา 57 รวมถึงกฎหมายอาญา มาตรา 385 
  • เลี้ยงสัตว์ริมทางและบนถนน เป็นพฤติกรรมความเสี่ยงที่เกิดจากอาชีพดั้งเดิมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะกีดขวางการจราจรแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนของชุมชนด้วย ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ ไล่ต้อนสัตว์บนถนนมีความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 111-115 และพ.ร.บ.การสาธารณสุขได้ให้อำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นในการควบคุมจัดการสัตว์เลี้ยง โดยมีโทษปรับ แต่เนื่องจากลักษณะทางสังคมที่เป็นแบบพึ่งพากันและกัน รวมถึงผู้เลี้ยงสัตว์มักไม่มีที่ดินเลี้ยงเป็นของตัวเอง พฤติกรรมความเสี่ยงนี้จึงกลายเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ 
  • ใช้ความเร็วแบบไม่ถูกต้อง พฤติกรรมการขับรถช้าก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยการใช้ความเร็วรถยนต์ที่ต่ำกว่า 90 กม./ชม. ในช่องทางขวาสุดของถนนทางหลวง 4 ช่องทาง เป็นสาเหตุสำคัญของการอุบัติเหตุอันดับที่ 2 หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รองจากการเสียหลักตกข้างทาง ซึ่งมีสัดส่วนที่ 45% เพราะเมื่อมีการขับขี่ด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม. ในช่องทางดังกล่าว จังหวะที่รถยนต์คันที่ตามหลังมามีการเบี่ยงแซงไปช่องทางซ้ายจะเกิดจุดบอดที่คนขับรถยนต์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งขวามองไม่เห็น จึงมีโอกาสสูงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุพุ่งชนกับรถยนต์ที่วิ่งมาในช่องทางซ้ายด้านหน้า ทั้งนี้ การกำหนดความเร็วที่เหมาะสมสำหรับในแต่ละช่องจราจร กำหนดให้ช่องขวาสุดเป็นช่องทางที่ให้รถยนต์ใช้ความเร็วได้สูงสุด และจะให้รถยนต์ที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม. อยู่ในช่องทางอื่นๆ ทางด้านซ้าย โดยกำหนดความเร็วลดหลั่นลงมาตามลำดับ 
: